ลัทธิมาร์กซ
จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
ลัทธิมาร์กซ คือแนวปฏิบัติทางการเมืองและทฤษฎีทางสังคม ที่มีพื้นฐานมาจากผลงานของคาร์ล มาร์กซ ผู้เป็นทั้งนักปรัชญา นักเศรษฐศาสตร์ นักข่าว และนักปฏิวัติในสมัยคริสตศตวรรษที่ 19 ร่วมกันกับฟรีดริช เองเกิลส มาร์กซใช้ปรัชญาของเฮเกิลและเศรษฐศาสตร์การเมืองของแอดัม สมิทเพื่อสร้างบทวิพากษ์สังคม ที่เขาอ้างว่าเป็นทั้งวิทยาศาสตร์และเป็นแนวคิดปฏิวัติ บทวิพากษ์นี้ มีความชัดเจนในเรื่องหามากในหนังสือชื่อ ทุน: บทวิพากษ์ทางเศรษฐศาสตร์การเมือง
คุณสามารถช่วยแก้ไขปัญหานี้ได้! โดยการกดที่ปุ่ม แก้ไข ด้านบน จากนั้นแก้ไขภาษาให้สละสลวย และแก้ตัวสะกดให้ถูกต้อง ดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ คู่มือ และ นโยบายวิกิพีเดีย |
แนวความคิดของลัทธิมาร์กซ์ คือ การปฏิวัติล้มล้างระบบทุนนิยม และการนำเสรีภาพ มาสู่ชนชั้นกรรมาชีพ โดยมีปรัชญาทางความคิดว่า มนุษย์ทุกคนจะต้องมีความเท่าเทียมกัน ไม่มีการข่มเหง หรือเอาเปรียบต่อกัน ซึ่งจะทำให้เสรีภาพที่แท้จริงเกิดขึ้นมาได้ (มิใช่เสรีภาพจอมปลอมในระบบทุนนิยม) และสภาวะแปลกแยกจากตนเองและโลกอย่างที่มนุษย์เคยดำรงอยู่ในระบบอื่น ๆ ก่อนหน้านี้ก็จะหมดสิ้นไป ด้วยมนุษย์จะได้รับความพึงพอใจในงานที่ตัวเองทำ ได้รับผลตอบแทนอย่างสมน้ำสมเนื้อและเต็มเม็ดเต็มหน่วย และดำรงชีวิตอย่างผาสุกในความสมถะเรียบง่าย
มาร์กซ์ ได้วิจารณ์ระบบทุนนิยมว่า เป็นระบบที่ก่อให้เกิดความรู้สึกแบ่งแยกในหมู่ผู้ใช้แรงงาน ซึ่งเขาเชื่อว่า คุณค่าของมนุษย์อยู่ที่ผลงาน มนุษย์จะรู้สึกว่าตนเองมีคุณค่า เมื่อได้ทำงานที่มีลักษณะสร้างสรรค์ แต่ในสังคมทุนนิยมนั้น แรงงานของมนุษย์กลายเป็นสินค้าที่ขายกันในตลาดแรงงาน มนุษย์ทำงานเป็นเหมือนเครื่องจักรไม่มีลักษณะที่สร้างสรรค์แต่อย่างใด
มาร์กซ์เชื่อว่า โครงสร้างทางเศรษฐกิจ ซึ่งถูกกำหนดโดยวิธีการผลิตนั้น จะเป็นตัวกำหนดโครงสร้างของรูปแบบความสัมพันธ์ทางสังคม อันก่อให้เกิดการแบ่งแยกทางชนชั้นขึ้นมา ในทุกสังคมจะมีสองชนชั้น ชนชั้นแรกคือ ชนชั้นปกครอง ซึ่งผูกขาดเป็นเจ้าของเครื่องมือการผลิตทั้งหมด เอารัดเอาเปรียบและกดขี่ข่มเหง อีกชนชั้นหนึ่งคือ ชนชั้นผู้ใช้แรงงาน ชนชั้นปกครองจะพยายามพัฒนาเทคนิคทางการผลิตให้สูงขึ้นเรื่อย ๆ และการกดขี่ข่มเหงก็จะเพิ่มมากขึ้น ในขณะเดียวกันชนชั้นแรงงานก็จะเกิดความรู้สึกแบ่งแยก เพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ เช่นกัน ความรู้สึกแบ่งแยกนี่เองที่ทำให้เกิดความสำนึกทางชนชั้น และเกิดการปฏิวัติโค่นล้มอำนาจของชนชั้นปกครองในที่สุด
จากการวิเคราะห์ของมาร์กซ์ทำให้เห็นว่า ความเสียเปรียบของผู้ใช้แรงงานเกิดจากตัวระบบแบบทุนนิยม ที่กำหนดให้ผู้ใช้แรงงานขายแรงงานของตนเองในราคาถูกแก่เจ้าของทุน ซึ่งจะนำไปทำกำไรให้เพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ แน่นอนว่า พันธการแห่งความเอารัดเอาเปรียบเช่นนี้ ไม่มีทางที่จะถูกปลดปล่อยได้โดยเจ้าของทุน แต่สามารถหลุดพ้นได้โดยการเปลี่ยนแปลงตัวระบบ
[แก้] ลัทธิมาร์กซ์ในปัจจุบัน
ลัทธิมาร์กซ์ เกิดขึ้นทีหลังลัทธิทุนนิยม และเป็นคู่แข่งสำคัญ ขณะที่ลัทธิทุนนิยมยังสามารถรักษาลักษณะครอบงำไปทั่วโลก แต่ก็ยังมีการพัฒนาลัทธิของตนไปตามกาล เช่น เสนอลัทธิคลาสสิคใหม่ (Neo-classic) เสรีนิยมใหม่ และโลกาภิวัตน์ เป็นต้น ดังนั้น ลัทธิมาร์กซ์ซึ่งไม่ได้เป็นกระแสหลักของโลก ก็ยิ่งมีความปั่นป่วนปรับตัวสูงมากขึ้นไปอีก
กล่าวกันว่าลัทธิมาร์กซ์ในปัจจุบันเผชิญกับชะตากรรม 3 รูปแบบด้วยกัน คือ
รูปแบบแรก ได้แก่ การยึดมั่นในลัทธิมาร์กซ์เดิม ซึ่งปัจจุบันเหลือน้อยมาก และมีแนวโน้มที่จะหดตัว ประเทศที่เคยประกาศว่ายึดถือลัทธิมาร์กซ์ ก็หันไปหาลัทธิอื่นมาประกอบหรือกระทั่งละทิ้งไปเสียเลยทีเดียว
รูปแบบที่สอง เป็นการพัฒนาหรือมองลัทธิมาร์กซ์ในมุมมองใหม่ เช่น การมองจากจุดของเศรษฐกิจ สิ่งแวดล้อมและทางด้านมานุษยวิทยา ซึ่งก็ยังมีการปฏิบัติอยู่ในที่ต่างๆ
รูปแบบที่สาม ได้แก่ การนำลัทธิมาร์กซ์มาใช้เพื่ออธิบายปรากฏการณ์ทางสังคม ทั้งด้านเศรษฐกิจ การเมือง และอื่นๆ การนำมาใช้นี้ดูกระทำกันอย่างค่อนข้างกว้างขวาง ทำให้ข้อเขียนเหล่านั้นมีความแหลมคมขึ้น เช่น ข้อเขียนของทอฟเลอร์ ซึ่งถือว่าเป็นนักอนาคตศาสตร์ที่มีชื่อเสียงของสหรัฐ ดังนั้น ในปัจจุบันเราจึงสามารถพบเห็นส่วนเสี้ยวของลัทธิมาร์กซ์ ปรากฏในหนังสือ วารสาร และบทความตามที่ต่างๆ
ลัทธิมาร์กซ เป็นบทความเกี่ยวกับ การเมือง การปกครอง หรือ กฎหมาย ที่ยังไม่สมบูรณ์ ต้องการตรวจสอบ เพิ่มเนื้อหา หรือเพิ่มแหล่งอ้างอิง คุณสามารถช่วยเพิ่มเติมหรือแก้ไข เพื่อให้สมบูรณ์มากขึ้น |