จังหวัดลพบุรี
จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
สถิติ | |
---|---|
อำเภอเมือง: | อำเภอเมืองลพบุรี |
พื้นที่: | 6,199.8 ตร.กม. อันดับที่ 37 |
ประชากร: | 752,210 (พ.ศ. 2549 เมษายน) อันดับที่ 32 |
ความหนาแน่น: | 121 คน/ตร.กม. อันดับที่ 38 |
ISO 3166-2: | TH-16 |
ผู้ว่าราชการจังหวัด: | นายวิชัย ศรีขวัญ (ตั้งแต่ พ.ศ. 2547) |
แผนที่ | |
- ดูความหมายอื่นของ ลพบุรี ได้ที่ ลพบุรี (แก้ความกำกวม)
ลพบุรี เป็นจังหวัดในภาคกลาง มีพื้นที่อุดมสมบูรณ์เหมาะแก่การเพาะปลูก มีประวัติศาสตร์ยาวนาน ปัจจุบันเป็นที่ตั้งของกองกำลังทั้งทหารบกและทหารอากาศหลายหน่วย และยังมีสถานที่ท่องเที่ยวที่น่าสนใจหลายแห่ง เช่น เขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ วัดเขาวงกต และทุ่งทานตะวันที่ใหญ่ที่สุดในประเทศ (มีพื้นที่ถึง 14,000 ไร่)
สารบัญ |
[แก้] ที่ตั้งและอาณาเขต
จังหวัดลพบุรีตั้งอยู่ในภาคกลางของประเทศไทย ระหว่างเส้นรุ้งที่ 47 องศา 37 ลิปดาเหนือ และเส้นแวงที่ 100 องศา 25 ลิปดาตะวันออก อยู่ห่างจากรุงเทพมหานครไปทางเหนือตามเส้นทางหลวงหมายเลข 1 ถนนพหลโยธิน ประมาณ 155 กิโลเมตร หรือทางรถไฟสายเหนือประมาณ 133 กิโลเมตร มีพื้นที่ 6,586.67 ตารางกิโลเมตร หรือประมาณ 4,116,668 ไร่
จังหวัดลพบุรีมีพื้นที่ติดต่อกับจังหวัดต่างๆ 8 จังหวัดดังนี้ คือ ด้านตะวันออก ติดกับจังหวัดนครราชสีมาและชัยภูมิ ด้านเหนือติดกับจังหวัดเพชรบูรณ์ ด้านตะวันตกติดกับนครสวรรค์และสิงห์บุรี ด้านใต้ ติดกับสระบุรี อยุธยา และอ่างทอง
[แก้] ประวัติศาสตร์
พื้นที่ของจังหวัดลพบุรี เคยเป็นที่ตั้งของเมืองโบราณหลายสมัย เดิมเรียก ละโว้ นับตั้งแต่สมัยขอมเรืองอำนาจ มีหลักฐานที่สำคัญคือ พระปรางค์สามยอด (อยู่ในเขตอำเภอเมือง) เป็นศิลปะเขมรสมัยบายน อายุราวพุทธศตวรรษที่ 18 และมีศาลพระกาฬซึ่งเก่าแก่ในสมัยเดียวกัน
ลพบุรีเป็นเมืองที่มีประวัติศาสตร์อันยาวนาน เพราะปรากฏร่องรอยการอยู่อาศัยของมนุษย์ติดต่อกันนานนับแต่ยุคก่อนประวัติศาสตร์ ไม่น้อยกว่า 3,000-4,000 ปีมาแล้ว จากการค้นพบหลักฐานทางโบราณคดีจำนวนมาก และมีหลักฐานเอกสาร จารึกกล่าวถึงเมืองลพบุรี อยู่หลายประการเช่นในพุทธศตวรรษที่ 11-15 มีหลักฐานคือพงศาวดารเหนือกล่าวถึงพระยากาฬวรรรณดิศได้ให้พราหมณ์ยกพลมาสร้างเมืองละโว้ตั้งแต่ พ.ศ. 1002 นอกจากนี้ยังมีตำนานชินกาลมาลีปกรณ์กล่าวถึงการสร้างเมืองหริภุญไชยใน พ.ศ. 1204 ต่อมาอีก 2 ปี คือ พ.ศ. 1206 ได้ส่งทูตล่องลำน้ำปิงไปเมืองลวปุระทูลขอเชื้อสายกษัตริย์ลวปุระให้ไปปกครอง กษัตริย์ลวปุระจึงได้พระราชทานพระนางจามเทวี พระราชธิดา ให้ไปครองเมืองหริภุญไชย ทรงสร้างวัดจามเทวีที่เมืองหริภุญไชย ชื่อเมืองลวปุระในตำนานชินกาลมาลีปกรณ์เป็นที่ยอมรับว่าคือเมืองลพบุรีในปัจจุบัน จึงสรุปได้ว่าลพบุรีคงเป็นเมืองสำคัญเมืองหนึ่ง แว่นแคว้นอื่นจึงได้ยอมรับและขอเชื้อสายไปปกครอง
ในระยะราวพุทธศตวรรษที่ 16-18 ละโว้หรือลพบุรีตกอยู่ภายใต้อำนาจทางการของอาณาจักรกัมพูชาเป็นครั้งคราวปลายพุทธศตวรรษที่ 18 เกิดความอ่อนแอในอาณาจักรกัมพูชาทำให้รัฐต่างๆ ที่เคยอยู่ใต้อำนาจปลีกตัวเป็นอิสระ รวมทั้งละโว้ด้วย ในราวพุทธศตวรรษที่ 19 ปรากฏหลักฐานว่าเมืองลพบุรี น่าจะเป็นเมืองที่พระเจ้าอู่ทองเคยครองราชย์มาก่อนที่จะย้ายไปสถาปนาอาณาจักรอยุธยา และในสมัยกรุงศรีอยุธยานี้เองที่ลพบุรีเจริญรุ่งเรืองที่สุด เพราะสมเด็จพระนารายณ์มหาราช (ครองราชย์ พ.ศ. 2199-2231) ได้สถาปนาลพบุรีเป็นราชธานีที่สอง หลังแผ่นดินสมเด็จพระนารายณ์มหาราชแล้วลพบุรีขาดความสำคัญลงมากจนกระทั่งถึงรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ได้โปรดสถาปนาเมืองลพบุรีเป็นที่ประทับอีกแห่งหนึ่งจึงเห็นได้ว่าเมืองลพบุรีมีความสำคัญติดต่อกันมา ยาวนานนับพันปี
[แก้] ภูมิประเทศ
ภูมิประเทศของจังหวัดลพบุรี แบ่งออกเป็น 2 ส่วนใหญ่ ๆ คือ
- ที่ราบลุ่ม มีพื้นที่ 1,170 ตารางกิโลเมตร เป็นพื้นที่ของอำเภอท่าวุ้งทั้งหมด ตอนกล และตะวันตกของอำเภอเมืองลพบุรี ตอนกลางและตะวันตกเฉียงใต้ของอำเภอโคกสำโรง และส่วนใหญ่ของอำเภอบ้านหมี่ พื้นที่ราบตอนกลางของอำเภอเมืองลพบุรี บริเวณหมู่บ้านสะพานอิฐ และหมู่บ้านหินสองก้อนจะมีดินสีขาวที่สามารถนำมาทำดินสอพองได้ และดินสอพองของจังหวัดลพบุรีได้ชื่อว่าเป็นดินสอพองที่ดี ที่สุดของเมืองไทย
- ที่ราบสลับเนินเขาและภูเขา มีเนื้อที่ 4,816.67 ตารางกิโลเมตร ครอบคลุมพื้นที่ด้านตะวันออกของอำเภอเมืองลพบุรี ทิศตะวันตกเฉียงเหนือของอำเภอบ้านหมี่บางส่วน ทิศตะวันตกเฉียงเหนือและตะวันออกของอำเภอโคกสำโรงและอำเภอท่าหลวง
มีแม่น้ำสำคัญไหลผ่าน นั่นคือ แม่น้ำป่าสัก โดยมีการสร้างเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์เพื่อกักเก็บน้ำ และเป็นสถานที่พักผ่อนหย่อนใจสำหรับชาวจังหวัดลพบุรี และจังหวัดใกล้เคียง รวมทั้งยังมี แม่น้ำลพบุรีผ่านทางฝั่งตะวันตกของจังหวัดด้วย รวมทั้งมีระบบคลองชลประทานที่เป็นประโยชน์ในทางเกษตรกรรมอีกด้วย
[แก้] ภูมิอากาศ
สภาพโดยทั่วไปมีภูมิอากาศแบบร้อนชื้น อยู่ภายใต้อิทธิพลของลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้และลมมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือ และยังได้รับอิทธิพลจากพายุดีเปรสชั่นและพายุไต้ฝุ่นอีกด้วยโดยเฉพาะในช่วงเดือนสิงหาคมถึงเดือนกันยายน มีอุณหภูมิเฉลี่ย 28.3 องศาเซลเซียส มีปริมาณน้ำฝนเฉลี่ยปีละประมาณ 1,147.6 มิลลิลิตร สำหรับมีฤดูกาลต่างๆ มี 3 ฤดู คือ
- ฤดูร้อน ระหว่างเดือน มีนาคม-พฤษภาคม อากาศจะร้อน และแห้งแล้ง
- ฤดูฝน ระหว่างเดือนมิถุนายน-ตุลาคม อากาศจะชุ่มชื้นในเดือนกันยายน
- ฤดูหนาว ระหว่างเดือนพฤศจิกายน-กุมภาพันธ์ อากาศจะหนาวเย็นสลับกับอากาศร้อน
[แก้] หน่วยการปกครอง
การปกครองแบ่งออกเป็น 11 อำเภอ 124 ตำบล 1110 หมู่บ้าน
|
|
[แก้] สัญลักษณ์ประจำจังหวัด
- ดอกไม้ประจำจังหวัด: ดอกพิกุล (Mimusops elengi)
- ต้นไม้ประจำจังหวัด: พิกุล (Mimusops elengi)
- คำขวัญประจำจังหวัด: วังนารายณ์คู่บ้าน ศาลพระกาฬคู่เมือง ปรางค์สามยอดลือเลื่อง เมืองแห่งดินสอพอง เขื่อนป่าสักชลสิทธิ์เกริกก้อง แผ่นดินทองสมเด็จพระนารายณ์
[แก้] ประชากร
ประชากรของจังหวัดลพบุรีส่วนใหญ่เป็นชาวไทยภาคกลาง และมีชนเชื้อสายจีนปะปนอยู่ทั่วไป นอกจากนี้ยังมีชนเชื้อสายลาว ลาวพวน ส่วนใหญ่อยู่ในท้องที่อำเภอบ้านหมี่ ชนเชื้อสายมอญอาศัยอยู่ในเขตท้องที่ตำบลบางขันหมาก อำเภอเมืองลพบุรี ซึ่งชนเชื้อสายต่างๆ นี้ยังคงรักษาวัฒนธรรม ขนบธรรมเนียม ประเพณี ภาษาพูดที่เป็นเอกลักษณ์ของตนเอง แต่ก็สามารถปรับตัวให้เข้ากับประชากรส่วนใหญ่ได้ดี
จำนวนประชากรทั้งหมดของจังหวัดลพบุรี จากรายงานฉบับสมบูรณ์โครงการศึกษาแผนแม่บทเพื่อพัฒนาเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมจังหวัดลพบุรี ช่วงปี พ.ศ. 2540 - 2550 มีประชากรนับถึงสิ้นเดือนตุลาคม พ.ศ. 2539 มีจำนวนทั้งสิ้น 787,768คน แยกเป็นเพศชาย 410,775 คน เพศหญิง 376,993 คน ความหนาแน่นของประชากรเฉลี่ย 127 คน ต่อตารางกิโลเมตร เนื่องจากจังหวัดลพบุรี เป็นเมืองยุทธศาสตร์การทหารจึงทำให้มีประชากรเพศชายมากกว่าเพศหญิงเล็กน้อย แนวโน้มจำนวนประชากรในช่วง 10 ปีข้างหน้า (พ.ศ. 2540 - 2550) คาดว่าในปี พ.ศ. 2550 ประชากรจังหวัดลพบุรี จะมีจำนวทั้งสิ้นประมาณ 906,149 คน รายได้เฉลี่ยของประชากรในปีพ.ศ. 2537 คือ 34,301 บาท/คน/ปี พ.ศ. 2540 จำนวน 47,335 บาท/คน/ปี และคาดว่าในปีพ.ศ. 2550จะเท่ากับ 76,446 บาท/คน/ปี
ประชากรส่วนใหญ่ประกอบอาชีพเกษตรกร ทำนา ทำไร่ข้าวโพด ข้าวฟ่าง อ้อยน้ำตาล ถั่วเขียว ถั่วเหลือง ประชากรในจังหวัดลพบุรีมีด้วยกันหลายกลุ่ม เช่น ไทยภาคกลาง ไทยพวน (เดิมเรียก ลาวพวน) และไทยเบิ้ง (หรือไทยเดิ้ง) ไทยอีสาน (พูดภาษาอีสาน) ไทยมอญ นอกจากนี้ยังมีชาวไทยเชื้อสายจีนจำนวนไม่น้อยอีกด้วย
[แก้] การคมนาคม
ลพบุรีอยู่ในพื้นที่ซึ่งมีเส้นทางคมนาคมที่สะดวก มีทางรถไฟเส้นทางสายเหนือผ่าน ส่วนทางรถยนต์ ก็มีเส้นทางหลักคือ ทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 1 (ถนนพหลโยธิน) ตัดผ่าน นอกจากนี้ยังมีเส้นทางคมนาคมสายสำคัญซึ่งตัดผ่านจังหวัดข้างเคียง คือ เส้นทางรถไฟสายอีสาน และทางหลวงแผ่นดินหมายเลขที่ 2 (ถนนมิตรภาพ)ผ่านจังหวัดที่มีเขตติดต่อกันคือ จังหวัดสระบุรี และยังมีถนนสายเอเซียตัดผ่านจังหวัดที่มีเขตติดต่อกันคือ จังหวัดสิงห์บุรี
[แก้] ของดีจังหวัดลพบุรี
ลพบุรีมีสินค้าหัตถกรรมมากมาย เช่น ดินสอพอง (มีการทำไข่เค็มจากดินสอพองด้วย) ผลิตภัณฑ์จากดอกทานตะวัน ผ้ามัดหมี่และผ้าขาวม้าลายไส้ปลาไหล เป็นต้น
[แก้] สถานที่ท่องเที่ยว
เมืองลพบุรีมีความสำคัญทางประวัติศาสตร์อันยาวนาน มีโบราณสถานมากมาย และได้กลายเป็นสถานที่ท่องเที่ยวมากมาย เช่น
- วังนารายณ์ราชนิเวศน์ ต.ท่าหิน อ.เมือง จ.ลพบุรี
- ศาลพระกาฬ ต.ท่าหิน อ.เมือง จ.ลพบุรี
- พระปรางค์สามยอด ต.ท่าหิน อ.เมือง จ.ลพบุรี
- เทวสถานปรางค์แขก ต.ท่าหิน อ.เมือง จ.ลพบุรี
- บ้านวิชาเยนทร์ ต.ท่าหิน อ.เมือง จ.ลพบุรี
- วัดไลย์ อ.ท่าวุ้ง จ.ลพบุรี
- เขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ ต.หนองบัว อ.พัฒนานิคม จ.ลพบุรี
- หมู่บ้านหินสองก้อน ต.ทะเลชุบศร อ.เมือง จ.ลพบุรี
- พระที่นั่งไกรสรสีหราช (พระที่นั่งเย็น) ต.ทะเลชุบศร อ.เมือง จ.ลพบุรี
- พระปรางค์นางผมหอม อ.ลำสนธิ จ.ลพบุรี
- แหล่งโบราณคดีบ้านโป่งมะนาว อ.พัฒนานิคม จ.ลพบุรี
- วัดมณีชลขันธ์ ต.พรหมมาสตร์ อ.เมือง จ.ลพบุรี
- น้ำตกวังก้านเหลือง อ.ชัยบาดาล จ.ลพบุรี
- วัดมหาธาตุ(เมืองลพบุรี) ต.ท่าหิน อ.เมือง จ.ลพบุรี
[แก้] แหล่งข้อมูลอื่น
จังหวัดลพบุรี เป็นบทความเกี่ยวกับ จังหวัด อำเภอ หรือเขตการปกครองต่าง ๆ ของประเทศไทย ที่ยังไม่สมบูรณ์ ต้องการตรวจสอบ เพิ่มเนื้อหา หรือเพิ่มแหล่งอ้างอิง คุณสามารถช่วยเพิ่มเติมหรือแก้ไข เพื่อให้สมบูรณ์มากขึ้น |