จังหวัดนนทบุรี
จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
สถิติ | |
---|---|
อำเภอเมือง: | อำเภอเมืองนนทบุรี |
พื้นที่: | 622.372 ตร.กม. อันดับที่ 74 |
ประชากร: | 979,080 (พ.ศ. 2549 เมษายน) อันดับที่ 22 |
ความหนาแน่น: | 1,573 คน/ตร.กม. อันดับที่ 2 |
ISO 3166-2: | TH-12 |
ผู้ว่าราชการจังหวัด: | นายพระนาย สุวรรณรัฐ (ตั้งแต่ พ.ศ. 2547) |
แผนที่ | |
จังหวัดนนทบุรี เป็นหนึ่งในจังหวัดภาคกลางของประเทศไทย มีอาณาเขตจรดจังหวัดต่าง ๆ (เรียงตามเข็มนาฬิกา) ได้แก่ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา จังหวัดปทุมธานี กรุงเทพมหานคร และจังหวัดนครปฐม
สารบัญ |
[แก้] สัญลักษณ์ประจำจังหวัด
ตราประจำจังหวัดนนทบุรี เป็นรูปหม้อน้ำลายวิจิตร เป็นผลิตภัณฑ์ของจังหวัดที่มีชื่อเสียงมาช้านาน นิยมทำกันที่เกาะเกร็ด พรรณไม้และดอกไม้ประจำจังหวัดนนทบุรี คือ นนทรีบ้าน (Peltophorum pterocarpum ในวงศ์ LEGUMINOSAE) คำขวัญประจำจังหวัดนนทบุรี คือ พระตำหนักสง่างาม ลือนามสวนสมเด็จ เกาะเกร็ดแหล่งดินเผา วัดเก่านามระบือ เลื่องลือทุเรียนนนท์ งามน่ายลศูนย์ราชการ ตัวอักษรย่อ จังหวัดนนทบุรีใช้อักษรย่อ นบ |
[แก้] ภูมิศาสตร์
จังหวัดนนทบุรีมีพิกัดภูมิศาสตร์อยู่ที่ ละติจูดที่ 13 องศา 47 ลิปดาเหนือ ถึงละติจูดที่ 14 องศา 04 ลิปดาเหนือ และลองจิจูดที่ 100 องศา 34 ลิปดา ถึง 100 องศา 15 ลิปดาตะวันออก ตั้งอยู่ทางทิศเหนือของกรุงเทพมหานคร ริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา เป็นจังหวัดในเขตปริมณฑลของกรุงเทพมหานคร
การที่มีแม่น้ำเจ้าพระยาไหลผ่าน จึงทำให้พื้นที่ของจังหวัดแบ่งออกเป็น 2 ฝั่ง คือ ฝั่งตะวันตก มีพื้นที่ 3 ใน 4 ของจังหวัด พื้นที่ส่วนใหญ่เป็นที่ราบลุ่มมีน้ำท่วมถึง มีคูคลองขนาดต่าง ๆ เชื่อมโยงกันหลายสายเหมือนใยแมงมุม มีการทำเรือกสวนไร่นา และฝั่งตะวันออกมีพื้นที่ 1 ใน 3 ของจังหวัด ได้แก่ พื้นที่ในเขตเทศบาลนครนนทบุรีและเทศบาลนครปากเกร็ด เป็นเขตเมืองมีประชากรอยู่อย่างหนาแน่น อาจถือได้ว่าส่วนนี้เป็นส่วนหนึ่งของเมืองหลวง เพราะเขตแดนระหว่างนนทบุรีกับกรุงเทพมหานครนั้นแทบจะไม่เป็นที่รู้จัก
[แก้] ประวัติศาสตร์
[แก้] สมัยอยุธยา
สภาพทั่วไปของจังหวัดนนทบุรีเป็นพื้นที่ราบลุ่มมีความอุดมสมบูรณ์ จึงมีผู้คนมาตั้งถิ่นฐานเป็นชุมชนหนาแน่นตามริมแม่น้ำเจ้าพระยามาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยาตอนต้น เช่น บ้านวัดชลอ บ้านวัดเขมา บ้านบางม่วง บ้านตลาดขวัญ บ้านบางขนุน เป็นต้น
ในสมัยสมเด็จพระมหาจักรพรรดิ พระองค์ได้ทรงยกฐานะหมู่บ้านเล็ก ๆ ที่ชื่อว่า บ้านตลาดขวัญ ให้มีฐานะเป็น เมืองนนทบุรี ในปี พ.ศ. 2092 (ค.ศ. 1549) เพื่อประโยชน์ต่อการเกณฑ์ไพร่พลหากเกิดสงคราม รวมทั้งให้เป็นเมืองท่าและหน้าด่านของกรุงศรีอยุธยา โดยที่ตั้งของเมืองมีวัดหัวเมือง (ปัจจุบันเป็นเขตโรงพยาบาลพระนั่งเกล้า) เป็นเขตเหนือและมีวัดท้ายเมืองเป็นเขตใต้
ต่อมาในสมัยสมเด็จพระเจ้าปราสาททอง โปรดเกล้าฯ ให้ขุดคลองลัดตัดส่วนโค้งของแม่น้ำเจ้าพระยา ตั้งแต่ใต้วัดท้ายเมืองไปทะลุออกหน้าวัดเขมา (เดิมแม่น้ำเจ้าพระยาไหลวกเข้าไปทางบางกรวยและบางใหญ่) ซึ่งทำให้กระแสน้ำเปลี่ยนทางเดินไหลเข้าคลองที่ขุดใหม่ กลายเป็นแนวแม่น้ำเจ้าพระยาหน้าศาลากลางจังหวัดเก่าในปัจจุบัน ส่วนแม่น้ำเดิมก็ตื้นเขินลงเป็นคลองอ้อม คลองบางกอกน้อย และคลองบางกรวย
ใน พ.ศ. 2208 (ค.ศ. 1665) สมเด็จพระนารายณ์มหาราชโปรดเกล้าฯ ให้สร้างป้อมขึ้น เพราะแนวแม่น้ำที่สั้นลงทำให้ข้าศึกเข้าสู่กรุงศรีอยุธยาได้ง่าย ที่ตั้งของเมืองนนทบุรีจึงถูกย้ายลงไปอยู่ใกล้กับป้อมปราการบริเวณปากคลองอ้อม บ้านบางศรีเมือง (และตั้งอยู่บริเวณนี้จนถึงสมัยรัชกาลที่ 5 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์)
ต่อมาในปี พ.ศ. 2264 (ค.ศ. 1721) สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวท้ายสระโปรดเกล้าฯ ให้ขุดคลองลัดเกร็ดขึ้นตัดความโค้งของแม่น้ำเจ้าพระยาที่ไหลวกอ้อมไปทางบางบัวทอง (ในบริเวณที่เป็นเกาะเกร็ดและอำเภอปากเกร็ดในปัจจุบัน)
ก่อนเสียกรุงศรีอยุธยาแก่พม่าเล็กน้อย มังมหานรธาแม่ทัพพม่าได้เดินทัพมาจนถึงเมืองธนบุรีและเมืองนนทบุรี และเข้ายึดเมืองทั้งสองได้ ตั้งค่ายอยู่บริเวณวัดเขมา ขณะนั้นมีเรือกำปั่นอังกฤษซึ่งมาค้าขายอยู่ได้อาสาช่วยรบ โดยยิงปืนเข้าใส่ค่ายพม่าในเวลากลางคืน เมืองนนทบุรีจึงเป็นยุทธภูมิระหว่างเรือกำปั่นอังกฤษกับพม่าอยู่ระยะหนึ่ง จนกรุงศรีอยุธยาแตก ชาวเมืองต้องอพยพจากถิ่นที่อยู่เดิม ข้ามแม่น้ำไปหลบซ่อนอยู่ในสวนบางกรวยและบางใหญ่เพื่อหนีภัยสงคราม
[แก้] สมัยรัตนโกสินทร์
เมื่อบ้านเมืองได้รับการฟื้นฟูกลับสู่สภาพปกติในสมัยกรุงธนบุรีและกรุงรัตนโกสินทร์ ชาวเมืองจึงค่อย ๆ ย้ายกลับสู่ถิ่นฐานเดิม พร้อมกับที่ได้มีผู้คนจากถิ่นอื่นเข้ามาในพื้นที่ด้วย ได้แก่ ชาวมอญ อพยพเข้ามาในสมัยสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชและรัชกาลที่ 2 ชาวไทยมุสลิมเมืองปัตตานี อพยพเข้ามาในสมัยรัชกาลที่ 1 และชาวไทยมุสลิมเมืองไทรบุรี อพยพเข้ามาในสมัยรัชกาลที่ 3
ต่อมาในสมัยรัชกาลที่ 4 พระองค์โปรดเกล้าฯ ให้เปลี่ยนสร้อยชื่อเมืองจากเดิมคือ เมืองนนทบุรีศรีมหาสมุทร เป็น เมืองนนทบุรีศรีมหาอุทยาน และต่อมาเปลี่ยนเป็น เมืองนนทบุรีศรีเกษตราราม
ในสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้นนี้ เมืองนนทบุรีมีฐานะเป็นหัวเมืองชายทะเล สังกัดกรมท่า
ในสมัยรัชกาลที่ 5 พระองค์ได้ทรงปฏิรูปการปกครองหัวเมืองต่าง ๆ เป็นการปกครองส่วนภูมิภาค โดย เมืองนนทบุรี จัดอยู่ในมณฑลกรุงเทพ แบ่งเป็น 4 อำเภอ ได้แก่ อำเภอตลาดขวัญ อำเภอบางใหญ่ อำเภอบางบัวทอง และอำเภอปากเกร็ด ส่วนศาลากลางเมืองก็ได้ย้ายจากปากคลองอ้อมมาตั้งอยู่ที่ปากคลองบางซื่อ ใกล้วัดท้ายเมือง จนถึงในสมัยรัชกาลที่ 7 จึงได้ย้ายไปตั้งที่โรงเรียนราชวิทยาลัย (ปัจจุบันคือศาลากลางจังหวัดหลังเก่า)
[แก้] สมัยปัจจุบัน
ในปี พ.ศ. 2486 ได้มีการตัดถนนเชื่อมการคมนาคมระหว่างจังหวัดนนทบุรีกับจังหวัดพระนครขึ้นเป็นสายแรก คือ ถนนประชาราษฎร์ (ปัจจุบันคือถนนประชาราษฎร์และถนนกรุงเทพฯ-นนทบุรี) และต่อมาจึงได้ตัดถนนพิบูลสงครามเลียบแม่น้ำเจ้าพระยาในตำบลสวนใหญ่ขึ้นเป็นสายที่สอง
ในช่วงปี พ.ศ. 2486 - พ.ศ. 2489 ทางราชการได้ยุบจังหวัดนนทบุรีลง เนื่องจากสภาวะเศรษฐกิจตกต่ำ โดยโอนอำเภอเมืองนนทบุรีและอำเภอปากเกร็ดไปขึ้นกับจังหวัดพระนคร ส่วนอำเภอบางกรวย อำเภอบางใหญ่ และอำเภอบางบัวทองถูกโอนไปขึ้นกับจังหวัดธนบุรี จนกระทั่งนนทบุรีได้รับการยกฐานะขึ้นเป็นจังหวัดอีกครั้ง (ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งจังหวัดสมุทรปราการ จังหวัดนนทบุรี จังหวัดสมุทรสาคร และจังหวัดนครนายก พ.ศ. 2489) อำเภอต่าง ๆ จึงกลับมาอยู่ในเขตการปกครองของทางจังหวัดตามเดิม
พ.ศ. 2499 กระทรวงมหาดไทยได้ยกกิ่งอำเภอไทรน้อย (ซึ่งแยกพื้นที่ปกครองจากอำเภอบางบัวทองมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2491) ให้มีฐานะเป็นอำเภอ
ในปี พ.ศ. 2535 กระทรวงมหาดไทยได้ย้ายศาลากลางจังหวัดนนทบุรีไปตั้งอยู่ที่ศูนย์ราชการนนทบุรี ถนนรัตนาธิเบศร์ ตำบลบางกระสอ และใช้เป็นที่ทำการมาจนถึงทุกวันนี้
[แก้] การปกครอง
การปกครองส่วนภูมิภาคแบ่งออกเป็น 6 อำเภอ 52 ตำบล 309 หมู่บ้าน ส่วนการปกครองส่วนท้องถิ่นแบ่งออกเป็น 1 องค์การบริหารส่วนจังหวัด 10 เทศบาล (เทศบาลนคร 2 แห่ง เทศบาลเมือง 3 แห่ง และเทศบาลตำบล 5 แห่ง) และ 35 องค์การบริหารส่วนตำบล โดยอำเภอทั้ง 6 อำเภอของจังหวัดนนทบุรี มีรายชื่อดังนี้
1. อำเภอเมืองนนทบุรี |
[แก้] การเมือง
จังหวัดนนทบุรีมีการเลือกตั้งระดับท้องถิ่น ได้แก่ สมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนตำบล สมาชิกสภาเทศบาล (ส.ท.) สมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัด (ส.จ.) ส่วนการเลือกตั้งระดับชาติ ได้แก่ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) และสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.)
[แก้] การเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร
ดูเพิ่ม: การเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรในไทย พ.ศ. 2549
ในปี พ.ศ. 2548 และ พ.ศ. 2549 คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ได้จัดการเลือกตั้งขึ้น โดยกำหนดให้จังหวัดนนทบุรีมีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรได้ 6 คน (เดิมมี 5 คน) ซึ่งคำนวณจากจำนวนประชากร ดังนั้น เขตเลือกตั้งนี้จึงไม่ได้แบ่งตามเขตอำเภอ แต่เป็นการเฉลี่ยประชากรในแต่ละเขตเลือกตั้งให้มีจำนวนใกล้เคียงกัน โดยท้องที่ที่ประกอบเป็นเขตเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดนนทบุรี ได้แก่
เขตเลือกตั้งที่ 1
- อำเภอเมืองนนทบุรี (เฉพาะตำบลสวนใหญ่ ตำบลตลาดขวัญ ตำบลบางเขน และตำบลบางไผ่)
เขตเลือกตั้งที่ 2
- อำเภอเมืองนนทบุรี (เฉพาะตำบลบางกระสอ ตำบลท่าทราย และตำบลไทรม้า)
- อำเภอปากเกร็ด (เฉพาะตำบลท่าอิฐ)
เขตเลือกตั้งที่ 3
เขตเลือกตั้งที่ 4
- อำเภอเมืองนนทบุรี (เฉพาะตำบลบางศรีเมือง ตำบลบางกร่าง และตำบลบางรักน้อย)
- อำเภอบางบัวทอง (เฉพาะตำบลโสนลอย ตำบลบางรักใหญ่ ตำบลพิมลราช และตำบลบางรักพัฒนา)
เขตเลือกตั้งที่ 5
- อำเภอปากเกร็ด (เฉพาะตำบลในเขตเทศบาลนครปากเกร็ด)
เขตเลือกตั้งที่ 6
- อำเภอไทรน้อย
- อำเภอบางบัวทอง (เฉพาะตำบลบางบัวทอง ตำบลบางคูรัด ตำบลละหาร และตำบลลำโพ)
- อำเภอปากเกร็ด (เฉพาะตำบลบางตะไนย์ ตำบลคลองพระอุดม ตำบลเกาะเกร็ด ตำบลอ้อมเกร็ด ตำบลคลองข่อย และตำบลบางพลับ)
จากการเลือกตั้งทั่วไปเมื่อวันที่ 2 เมษายน พ.ศ. 2549 จังหวัดนนทบุรีมีผู้มีสิทธิเลือกตั้งแบบบัญชีรายชื่อ 718,835 คน มาใช้สิทธิ 490,283 คน คิดเป็นร้อยละ 68.21 และมีผู้มีสิทธิเลือกตั้งแบบแบ่งเขต 587,901 คน มาใช้สิทธิ 400,661 คน คิดเป็นร้อยละ 68.15 (การเลือกตั้งปี พ.ศ. 2548 ผู้มีสิทธิ 697,383 คน ใช้สิทธิร้อยละ 74.96)
ข้อมูลการใช้สิทธิปรากฏว่า แบบบัญชีรายชื่อมีบัตรดีร้อยละ 54.00 บัตรเสียร้อยละ 2.51 และบัตรไม่ประสงค์ลงคะแนนร้อยละ 43.48 ส่วนแบบแบ่งเขตเลือกตั้งมีบัตรดีร้อยละ 47.44 บัตรเสียร้อยละ 5.55 และบัตรไม่ประสงค์ลงคะแนนร้อยละ 47.01 ซึ่งจังหวัดนนทบุรีมีบัตรเสียทั้งสองแบบน้อยที่สุดเป็นอันดับที่ 2 ของประเทศรองจากกรุงเทพมหานคร (จำนวนผู้มีสิทธิทั้ง 2 แบบต่างกัน เนื่องจากในวันดังกล่าว เขตเลือกตั้งที่ 3 บางกรวย-บางใหญ่ ไม่มีการเลือกตั้งแบบแบ่งเขต)
[แก้] การเลือกตั้งสมาชิกวุฒิสภา
ดูเพิ่ม: การเลือกตั้งสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ. 2549
ในปี พ.ศ. 2543 และ พ.ศ. 2549 คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ได้จัดการเลือกตั้งขึ้น โดยกำหนดให้จังหวัดนนทบุรีมีสมาชิกวุฒิสภาได้ 3 คน ซึ่งคำนวณจากจำนวนประชากรเช่นเดียวกับสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร และถือเอาเขตจังหวัดเป็นเขตเลือกตั้ง
จากการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 19 เมษายน พ.ศ. 2549 จังหวัดนนทบุรีมีผู้มีสิทธิเลือกตั้งสมาชิกวุฒิสภา 723,102 คน มาใช้สิทธิ 415,998 คน คิดเป็นร้อยละ 57.53
ข้อมูลการใช้สิทธิปรากฏว่า มีบัตรดีร้อยละ 84.64 บัตรเสียร้อยละ 1.65 และบัตรไม่ประสงค์ลงคะแนนร้อยละ 13.71 ตามสถิติถือว่าจังหวัดนนทบุรีเป็นจังหวัดที่มีผู้ทำบัตรเสียน้อยที่สุดของประเทศ
[แก้] ประชากร
ตามฐานข้อมูลจำนวนประชากรของกรมการปกครอง เมื่อต้นเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2548 จังหวัดนนทบุรีมีประชากร 968,419 คน เป็นชาย 460,170 คน และหญิง 508,249 คน ประกอบด้วยหลายเชื้อชาติทั้งไทย (มีจำนวนมากที่สุด มีอยู่ทั่วไปในจังหวัด) จีน มอญ (อพยพมาในสมัยกรุงธนบุรีและสมัยรัชกาลที่ 2) และแขก (อพยพมาจากเมืองปัตตานีและไทรบุรี) โดยส่วนใหญ่นับถือพระพุทธศาสนา รองลงไปเป็นศาสนาอิสลาม ศาสนาคริสต์ และศาสนาอื่น ๆ
[แก้] การศึกษาและศูนย์วิจัย
[แก้] ดูเพิ่ม
[แก้] แหล่งข้อมูลอื่น