กบฏสันติภาพ
จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
กบฏสันติภาพ ชื่อเรียกเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 10 พฤศจิกายน พ.ศ. 2495 เมื่อรัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม ได้ทำการจับกุมประชาชนจำนวนมาก โดยในรอบแรกเมื่อวันที่ 10 พฤศจิกายน 2495 ได้จับกุมบุคคลต่างๆ เป็นจำนวนถึง 104 คน และมีการทะยอยจับกุมเพิ่มเป็นระยๆ ในข้อหาว่าคณะบุคคลและจำเลยในคดีนี้ได้ร่วมกันล้มล้างรัฐบาลและเปลี่ยนแปลงประเพณีการปกครองและเศรษฐกิจของประเทศไทยให้เป็นระบอบประชาธิปไตยแผนใหม่
ที่มาของคำว่า สันติภาพ เนื่องเพราะผู้ที่ถูกจับกุมคุมขังจำนวนหนึ่งเป็นสมาชิกคณะกรรมการสันติภาพแห่งประเทศไทย ซึ่งก่อตั้งเมื่อวันที่ 22 เมษายน 2494 โดยมี นายแพทย์เจริญ สืบแสง เป็นประธานคณะกรรมการ นาย กุหลาบ สายประดิษฐ์ และพระมหาดิลก สุวรรณรัตน์ เป็นรองประธาน นาย ส. โชติพันธุ์ (สิบโทเริง เมฆประเสริฐ) เป็นเลขาธิการ ตั้งขึ้นเพื่อต่อต้านสงครามในคาบสมุทรเกาหลี ต่อต้านรัฐบาลสหรัฐอเมริกาซึ่งสนับสนุน สงครามเกาหลี และเรียกร้องให้รัฐบาลไทยถอนตัวจากสงครามเกาหลี และกำลังเตรียมตัวเข้าร่วมประชุมกับนานาชาติในประเทศจีนเพื่อต่อต้านสงครามเกาหลี บรรดาบุคคลที่เข้าร่วมสนับสนุนการเคลื่อนไหวเพื่อเรียกร้องสันติภาพฯ และถูกจับกุมในครั้งนี้ มีหลากหลายกลุ่ม ประกอบไปด้วยนักเขียนหนังสือพิมพ์ที่มีชื่อเสียง อาทิ นาย กุหลาบ สายประดิษฐ์ นายอารี ลีวีระ เจ้าของหนังสือพิมพ์สยามนิกร, นาย สุภา ศิริมานนท์ เจ้าของและบรรณาธิการนิตยสาร อักษรสาส์น นายอุทธรณ์ พลกุลบรรณาธิการหนังสือพิมพ์ข่าวภาพ, นายแสวง ตุงคะบริหาร บรรณาธิการหนังสือพิมพ์สยามนิกร, นายบุศย์ สิมะเสถียร บรรณาธิการหนังสือพิมพ์ไทย, นายฉัตร บุณยศิริชัย บรรณาธิการหนังสือพิมพ์ข่าวภาพ, นายสมุทร สุรักขกะ บรรณาธิการหนังสือพิมพ์เกียรติศักดิ์, นายสมัคร บุราวาศ, นายเปลื้อง วรรณศรี, ฯลฯ และนักเคลื่อนไหวทางการเมืองต่อต้านรัฐบาล อาทิ นายมารุต บุนนาคประธานกรรมการสโมสรนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, นายลิ่วละล่อง บุนนาค(ผู้นำนักศึกษา), นายสุวัฒน์ วรดิลก(นักประพันธ์), นายฟัก ณ สงขลา (ทนายความ), นายสุ่น กิจจำนงค์ เลขาธิการสมาคมสหอาชีวกรรมกร, นายสุพจน์ ด่านตระกูล ฯลฯ ต่อมาได้มีการจับกุมเพิ่มเติ่ม อาทิ ท่านผู้หญิงพูนสุข พนมยงค์ภริยารัฐบุรุษอาวุโส-นายปรีดี พนมยงค์, นายปาล พนมยงค์, นายสุภัทร สุคนธาภิรมย์, พลตรีเนตร เขมะโยธิน เป็นต้น บรรดาผู้ที่ถูกจับกุมนั้น เป็นที่ทราบกันว่าเป็นผู้ที่มีความคิดเห็นไม่ตรงกับรัฐบาล บาลรายกำลังเคลื่อนไหวต่อต้านรัฐบาลอย่างลับๆ รวมถึงได้ร่วมมือกับพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยด้วย
คดีนี้ อัยการสั่งฟ้องผู้ต้องหารวมทั้งสิ้น 54 ราย ศาลได้พิพากษาจำคุก บางราย 13 ปี ยางราย 20 ปี และได้รับการประกันตัวและพ้นโทษตาม พ.ร.บ.นิรโทษกรรม เนื่องในโอกาสพุทธศตวรรษที่ 25 ในปี พ.ศ.2500
[แก้] ดูเพิ่ม
- กุหลาบ สายประดิษฐ์
- สงครามเกาหลี
- สุภา ศิริมานนท์
- อักษรสาส์น
- อุทธรณ์ พลกุล
- สุพจน์ ด่านตระกูล
- พูนสุข พนมยงค์
- ปาล พนมยงค์
- มารุต บุนนาค
- สมัคร บุราวาศ